messager
 
องค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ info_outline ข้อมูลการติดต่อ

อบต.พระเสาร์
 อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

Phrasao (SAO) 

 

 

 

ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
folder ฐานข้อมูลศิลปะวัฒนธรรม
ฐานข้อมูล ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

ฐานข้อมูลที่สำคัญ
บุญกุ้มข้าวใหญ่ บุญคูณลาน สถานที่ที่ทำสำหรับนวดข้าวเรียกว่าการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกคูณลานชาวนาทำนาได้ผลเมื่อต้องการบำเพ็ญกุศลมีให้ทานเป็นต้นก็จัดลานเป็นที่ทำบุญ การทำบุญในสถานที่ดังกล่าวเรียกบุญคูณลานกำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำเพราะมีกำทำในเดือนยี่จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนยี่ข้อมูลเพิ่มเติม ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้จัดทำ ลานข้าว เป็นความฉลาดของคนท้องถิ่นที่คิดสูตรทำลานข้าวขึ้นมาได้ ด้วยการใช้ขี้ควายผสมน้ำทาลาดลงพื้นนาที่ตัดตอฟางเกลี้ยงแล้วลาดขี้ควายให้ทั่วตากไว้ให้แห่งแล้วนำมัดข้าวมากองก่อเป็นลอมข้าวเมล็ดข้าวจะไม่ชื้นไม่เกิดราเก็บรักษาไว้ได้นานและรักษาหน้าดินได้ดีเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ปัจจุบันนี้แทบไม่พบเห็นลานข้าวอย่างนี้แล้ว ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้ อย่าได้ไลคองนี้ มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้น สิหายเสี่ยงบ่ยังจงให้ ฟังคองนี้ แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใดออกแท้ เข็ญฮ้ายสิแล่นเถิง เจ้าเอย มูลเหตุแห่งการทำ เรื่องเดิมมีว่าสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะมีชาวนาสองพี่น้องทำนาร่วมกัน เมื่อข้าวเป็นน้ำนมน้องชายอยากจะทำข้าวมธุปายาสถวายแด่พระสงฆ์มีพระกัสสปะเป็นประธาน ชวนพี่ชายแต่พี่ชายไม่ทำ จึงแบ่งนากัน พอน้องชายได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้ว ก็เอาข้าวในนาของตนทำทานถึง 9 ครั้งคือเวลาเป็นน้ำนม 1 ครั้ง เป็นข้าวเม้า 1 ครั้ง เก็บเกี่ยว 1 ครั้งจักตอกมัด 1 ครั้ง มัดฟ่อน 1 ครั้ง กองในลาน 1 ครั้งทำเป็นลอม 1 ครั้ง เวลาฟาดข้าว 1 ครั้ง ขนใส่ยุ้งฉาง 1 ครั้งการถวายทานทุกครั้งน้องชายปรารถนาเป็นพระอรหันต์ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมน้องชายได้มาเกิดเป็นพราหมณ์มีนามว่า โกญทัญญะ ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุองค์แรกได้เป็นพระอรหันต์และได้รับสมณฐานันดรศักดิ์รัตตัญญูส่วนพี่ชายได้ถวายข้าวในนาเพียงครั้งเดียวคือในเวลาทำนาแล้วได้ตั้งปณิธานขอให้สำเร็จเป็นอริยบุลคลครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมได้มาเกิดเป็นสุภัททปิพาชกบวชในพระพุทธศาสนาแต่ไม่มีโอกาศได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพานและเข้าไปทูลถามความสงสัยพระองค์ภายในม่านเวลาจบเทศน์ได้สำเร็จเป็น อนาคามี เป็นอริยบุคคลองค์สุดท้ายการถวายข้าวเป็นทานมีอนิสงค์มากจงถือเป็นประเพณีถวายมาจนถึงทุกวันนี้ พิธีทำ จัดเอาลานเป็นสถานที่ทำบุญบอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์จัดน้ำอบน้ำหอมไว้ประพรม ขึงด้วยสายสินจ์รอบกองข้าวพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้วถวายอาหารบิณฑบาต เสร็จแล้วเลี้ยงคน พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ น้ำพระพุทธมนต์ นำไปรดข้าวนาวัวควายต่อไปทำพิธีสู่ขวัญ การสู่ขวัญครั้งนี้สู่ให้เจ้าของนาและ ควายโดยถือว่าให้เกิดความสุขสวัสดี นอกจากนี้ แล้ว มีการทำบุญคุ้มเเละบุญกุ้มข้าวใหญ่บุญคุ้มหมู่บ้านหรือกลุ่มหนึ่งมีการรวมกลุ่มกันทำบุญเรียกบุญคุ้มพิธีทำคนในคุ้มนั้นทุกครัวเรือนพากันปลุกปะรำขึ้นกลางคืนนำดอกไม้ธูเทียนมารวมกันมารับศีลฟังเทศน์มีมหรสพคบงันตลอดคืนรุ่งเช้ามีการถวายอาหารบิณฑบาต บุญกุ้มข้าวใหญ่การนำข้าวเปลือกมารวมกันทำบุญกุ้มข้าวใหญ่พิธีทำเหมือนกับบุญคุ้มต่างเเต่สถานที่ที่จะทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ต้องเป็นศาลากลางบ้าน หรือศาลาโรงธรรมทุกครัวเรือนหาบข้าวเปลือกของตนออกมารวมกันกลางคืนมีการเจริญพระพุทธมนต์รับศีลฟังเทศน์มีมหรสพตอนเช้ามีถวายอาหารเเละถวายข้าวเปลือกการทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ถือว่าได้บุญกุศลมากจึงมีคนนิยมทำกันเป็นประจำทุกปีเเละทุกหมู่บ้านด้วย ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีวันสงกรานต์ รดน้ำหัวผู้สูงอายุ ตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ความเป็นมา สงกรานต์เป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยสันนิษฐานว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ ลาว เขมร พม่า จีน และไทย ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้ต่างไปจากเดิมบ้าง ทั้งการประกอบพิธี รูปแบบ และพฤติกรรม ในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ เสถียรโกเศศสันนิษฐานว่า ไทยเรารับประเพณีขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑๓ เมษายน มาจากอินเดียฝ่ายเหนือ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ตรงกับการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ หรือที่เรียกว่าฤดูวสันต์ของอินเดีย จัดเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา เพราะเป็นช่วงที่อากาศไม่หนาวจัด ต้นไม้ผลิใบให้ความสดชื่น บังเอิญช่วงเวลานี้ตรงกับช่วงเวลาที่คนไทยเราในสมัยโบราณว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตำนานเกี่ยวกับสงกรานต์ยังมีปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน ฯ โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้น ๆ นางสงกรานต์มีชื่อดังนี้ ทุงษเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ โคราดเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ รากษสเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร มัณฑาเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันพุธ กิริณีเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี กิมิทาเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ มโหทรเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ นางสงกรานต์เป็นธิดาของท้าวมหาสงกรานต์หรือท้าวมหาพรหม มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหมซึ่งประดิษฐานอยู่ในพานแว่นฟ้า เนื่องจากท้าวกบิลพรหมแพ้พนันการตอบปัญหาแก่ธรรมบาลกุมารจึงต้องตัดเศียรของตนบูชาแก่ธรรมบาลกุมาร ก่อนจะตัดเศียรท้าวกบิลพรหม ได้เรียกธิดาทั้ง ๗ ซึ่งเป็นนางฟ้า บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความร้ายทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ธิดาทั้ง ๗ จึงผลัดเปลี่ยนกันถือพานรองเศียรของ ท้าวกบิลพรหมไว้คนละ ๑ ปี เมื่อถึงวันสงกรานต์ คนไทยสมัยก่อนสนใจที่จะรู้ชื่อนางสงกรานต์ พาหนะทรง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ คำทำนายต่าง ๆ เป็นการเตรียมพร้อม ในการที่จะต้องเผชิญกับภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ผลิตผลและการทำมาหากินทั่วไป วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางราชการ จึงได้เปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็น วันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่ นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ความหมายของประเพณีสงกรานต์ คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้นหรือเคลื่อนที่ หมายถึง ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนจาก ราศีมีนสู่ราศีเมษ ถือว่าเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติ จะตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓ , ๑๔ และ ๑๕ เมษายน โดยแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ มาแล้ว ๑๒ เดือน ซึ่งวันที่ ๑๓ เมษายนนี้ทางการ ยังกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นบุพการีหรือผู้อาวุโสที่เคยทำคุณประโยชน์แก่ชุนชน/บ้านเมืองหรือสังคมนั้นๆมาแล้ว วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเรียบร้อยแล้ว วันนี้รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” ด้วย วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือ วันพญาวัน คือ วันเริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือวันเริ่มปีใหม่ ทั้งสามวันนี้หากคำนวณตามโหราศาสตร์จริงๆอาจจะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็น วันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น จากการที่สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน และมี ธรรมเนียมปฏิบัติที่ชัดเจนสืบทอดต่อมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม มีความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขแก่จิตใจ ครอบครัวและสังคมเป็นสำคัญ เทศกาลนี้จึงมีกิจกรรมที่หลากหลายและมีเหตุผลในการกระทำทั้งสิ้น ซึ่งจะขอยกตัวอย่างกิจกรรมต่าง ๆ ที่นิยมจัดหรือ ปฏิบัติกันในภาคต่าง ๆ เป็นภาพรวมเพื่อให้ทราบ ดังต่อไปนี้ ก่อนวันสงกรานต์ มักจะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ในการต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันปีใหม่ คือ การทำความสะอาดบ้านเรือน รวมถึงข้าวของ เครื่องใช้ บางคนก็ไปช่วยทำความสะอาดที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัด โรงเรียน ชุมชน เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญ หลาย ๆ คนก็มีการจัดเตรียมเสื้อผ้าเครื่องประดับที่จะใส่ไปทำบุญ ตลอดจนมีการจัดผ้าที่จะนำไปไหว้ผู้ใหญ่ที่จะไปรดน้ำขอพรจากท่านด้วย การเตรียมตัวในเรื่องต่าง ๆ ก่อนวันสงกรานต์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความสะอาด การจัดทำอาหารไปทำบุญ ฯลฯ จะทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความหวัง และรอคอยด้วยความสุข การได้ทำความสะอาดบ้านก็เหมือนการได้ฝึกชำระจิตใจล่วงหน้าไปในตัว วันสงกรานต์ เมื่อวันสงกรานต์มาถึง ก็จะเป็นเวลาที่ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจเบิกบาน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ก็มักจะเป็น การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด ทำบุญอัฐิ อาจจะนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หากไม่มีก็เขียนเพียงชื่อในกระดาษก็ได้ เมื่อบังสุกุลเสร็จแล้วก็เผากระดาษนั้นเสีย การสรงน้ำพระ จะมี ๒ แบบ คือ สรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังมี การก่อเจดีย์ทราย โดยนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ต่างๆในวัด จุดประสงค์ก็คือให้วัดได้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือใช้ถมพื้นต่อไป เพราะสมัยก่อนคนมักเข้าวัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เขาก็ถือว่าทรายอาจติดเท้าออกไป ดังนั้นเมื่อถึงปีหนึ่งก็ควรจะขนทรายไปใช้คืนให้แก่วัดการปล่อยนกปล่อยปลา ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์มักจะเป็นหน้าแล้ง น้ำแห้งขอดอาจจะทำให้ปลาตาย จึงมักมีการปล่อยนกปล่อยปลาที่ติดบ่วงติดน้ำตื้นให้เป็นอิสระ หรือบางแห่งก็มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ นอกเหนือไปจากการทำบุญข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการรดน้ำ ขอพรผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ ที่เคารพนับถือในครอบครัว ชุมชนหรือที่ทำงาน การรดน้ำอาจจะรดทั้งตัวหรือเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้ และควรจัดเตรียมผ้านุ่งหรือของไปเคารพท่านด้วย สำหรับการเล่นรื่นเริง จะมีหลายอย่าง เช่น เข้าทรงแม่ศรี การเข้าผีลิงลม การเล่นสะบ้าเล่นลูกช่วง เล่นเพลงพิษฐาน(อธิษฐาน) รวมไปถึงมหรสพและการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งแต่ละการละเล่นนั้นจะขึ้นอยู่กับความนิยมของคนในพื้นที่นั้น ๆ กิจกรรมอีกอย่างที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่นิยมและได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ ไปแล้วก็คือ การเล่นรดน้ำ ระหว่างเด็ก ๆ และหนุ่มสาว ซึ่งแต่เดิมนั้นมักเล่นกันเฉพาะในหมู่ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน โดยจะใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบ หรือน้ำหอม และเล่นสาดกันด้วยความสุภาพ กิจกรรมขององค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตร จัดให้มีการแสดงของผู้สูงอายุ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้สูง และตะหนักถึงความสำคัญการสืบทอดวัฒนธรรมต่อชุมชนและรักษาประเพณีอันดีงามของไทยเอาไว้ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้สูงอายุ ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีบุญบั้งไฟในตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร จัดในช่วงเดือน เมษายน ถึง มิถุนายน ของทุกปี ด้านความเชื่อของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์โลกเทวดา และโลกบาดาล มนุษย์ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างแห่งการแสดงความนับถือเทวดา เทวดา คือ "แถน" "พญาแถน"เมื่อถือว่ามีพญาแถนก็ถือว่ามีฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของพญาแถน หากทำให้พญาแถนโปรดปรานหรือพอใจแถนก็จะบันดาลความสุข จึงมีพิธีบูชาแถนการใช้บั้งไฟเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถนซึ่งแสดงความเคารพและแสดงความจงรักภักดีต่อแถนชาวอีสานส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าการจุดบูชาบั้งไฟเป็นการ ขอฝนพญาแถนและมีนิทานปรัมปราลักษณะนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอนในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือ เรื่องพญาคันคากพญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้ว ให้พญาแถนบันดาลฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ 1. การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาขอน้ำฝน เชื่อมความ สมัครสมานสามัคคี แสดงการละเล่นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้าชาวอีสานส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลเดือน 6 ซึ่งเป็นวันประสูติวันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวอีสานจะจัดดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาพระพุทธรูปการทำบุญบั้งไฟของชาวอีสานถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน 2. การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ มีการบวชพระและบวชเณรในครั้งนี้ด้วย จึงถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา 3. การขอฝนการทำนาไม่ว่าจะเป็นของภาคใดก็ต้องอาศัยน้ำฝน ชาวอีสานก็เช่นกันเนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้จึงมีความเชื่อเดียวกันกับสิ่งเหนือธรรมชาติจากตำนาน เรื่องเล่าของชาวอีสานเชื่อว่ามีเทพบุตรชื่อ โสกาลเทพบุตร มีหน้าที่บันดาลน้ำฝนให้ตกลงมา จึงทำบุญบั้งไฟขอน้ำจากเทพบุตรองค์นั้น
ชนิดของบั้งไฟ
ชนิดของบั้งไฟ ชนิดของบั้งไฟมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการทำ อาจจะแยกเป็นแบบใหญ่ และนิยมทำกันมากมี ๓ แบบ คือแบบมีหาง แบบไม่มีหาง และบั้งไฟตะไลบั้งไฟมีหางเป็นแบบมาตรฐาน เรียกว่า "บั้งไฟหาง"มีการตกแต่งให้สวยงามเมื่อเวลาเซิ้ง เวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมากควบคุมทิศทางได้เล็กน้อยบั้งไฟแบบไม่มีหางเรียกว่า "บั้งไฟก่องข้าว"รูปร่างคล้ายกล่องใส่ข้าวเหนียว ชนิดมีขาตั้ง เป็นแฉกถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คล้ายจรวดนั่นเองบั้งไฟตะไล มีรูปร่างกลม มีไม้บางๆแบนๆ ทำเป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่ง ขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง บั้งไฟทั้งสามแบบที่กล่าวมา ถ้าจะแยกย่อยๆ ตามเทคนิคการทำและลักษณะรูปร่างของบั้งไฟจะแยกเป็นประเภทได้ ๑๑ ชนิด ดังนี้คือ -บั้งไฟโมดหรือโหมด - บั้งไฟม้า - บั้งไฟช้าง - บั้งไฟจินาย - บั้งไฟดอกไม้ - บั้งไฟฮ้อยหรือบั้งไฟร้อย - บั้งไฟหมื่น - บั้งไฟแสน - บั้งไฟตะไล - บั้งไฟตื้อ - บั้งไฟพลุ การแห่บั้งไฟ การแห่บั้งไฟจะกำหนดไว้ ๓วัน คือ วันสุกดิบ วันประชุมเล่นรื่นเริง และวันจุดบั้งไฟ ในวัน สุกดิบคณะเซิ้งบั้งไฟแต่ละคุ้มแต่ละคณะจะนำบั้งไฟของตนพร้อมด้วยขบวนแห่มายังหมู่บ้านที่แจ้งฎีกาโดยจะแห่ไปรวมกันที่วัด และที่วัดจะมีการทำบุญและเลี้ยงแขกผู้ที่มีหน้าที่ต้อนรับจะปลูกกระท่อมเล็ก เรียกว่า "ผาม" ขึ้นตามลานวัดเพื่อเป็นที่จุดบั้งไฟและเป็นที่รับแขกที่จะมาประชุมกัน ทุกๆคนที่มาร่วมงานกันล้วนแต่งกายอย่างสวยงามทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะสาวๆถ้าสาวบ้านไหนไม่ไปเท่ากับผู้เฒ่าผู้แก่บ้านนั้น ไม่ยินดีร่วมทำบุญและไม่ร่วมมือถ้าพ่อแม่ขัดข้องโดยไม่มีเหตุจำเป็นจะเป็นบาป ตายแล้วต้องตกนรก แสนกัปแสนกัลป์และเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อน ฟ้าฝนไม่อุดมสมบูรณ์ทำไร่ทำนาไม่ได้ผล ปัจจุบันจังหวัดยโสธรได้จัดให้บั้งไฟคณะต่างๆ ไปทำพิธีบวงสรวงคารวะเจ้าปู่เจ้าพ่อหลักเมืองแล้วแต่ละคุ้มจะรำ เซิ้งเพื่อขอบริจาคไปตามสถานที่ต่างๆ ได้ เมื่อถึงวันที่สอง คือวันประชุมเล่นรื่นเริงหรือวันสมโภชคณะต่างๆจะนำบั้งไฟของตนไปปัก ไว้ที่ศาลาการเปรียญฝ่ายที่มีหน้าที่ต้อนรับแขกก็แขกรับไป พวกแขกก็มีธรรมเนียมเหมือนกันคือ ต้องมาเป็นขบวน มีคนตีฆ้อง ตีกลองนำขบวน มีพระและสามเณร ต่อด้วยประชาชนทั่วไปในขบวนนี้อาจจะมีแคน หรือเครื่อง ดนตรีอื่นๆเป่าหรือบรรเลงเพื่อความครึกครื้นไปด้วย ครั้นไปถึงลานวัดแล้วเจ้าภาพจะนำแขกไปยังผามที่ทำไว้ ขณะเมื่อแขกไปถึงผามจะตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณว่าแขกทั้งหลายได้มาถึงแล้วและจัดที่นั่งสำหรับพระและสามเณรไว้บนพื้นสูงแถวหนึ่ง ชายแก่อีกชั้นหนึ่งและรองลงมาก็จะเป็นหญิงแก่และสาวปนเปกันไปและต้องหันหน้าออกมาทางผาม สำหรับพวกหนุ่มๆที่ร่วมขบวนมาด้วยกันนั้นส่วนมากจะมารื่นเริงฟ้อนรำทำเพลงผสมปนเปกับเจ้าของถิ่นและพวก ที่มาจากถิ่นอื่น วันนี้อาจมีการบวชนาคและสรงน้ำพระภิกษุโดยนิมนต์ท่านสมภารวัด หรือพระคุณเจ้าวัดเจ้าคณะอำเภอนั้นๆขึ้นแคร่แห่ไปรอบวัดและนำนาคเข้าขบวนแห่ไปด้วย นาคพื้นเมืองจะแต่งตัวสวยงามมาก บางคนนั่งแคร่หรือขี่ม้า และมีคนตีฆ้องเดินนำขบวน มีการยิงปืนและจุดไฟตะไล อานม้าผูกกระพรวนด้วยอนึ่งในพิธีแห่บั้งไฟนี้ ถ้าบุคคลใดมีความประสงค์จะสรงน้ำพระภิกษุก็ให้มีการแห่พระภิกษุรูปนั้นออกนำ หน้านาคอีกทีหนึ่งการสรงน้ำพระเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฮดสรง การฮดสรงนี้เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่พระภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศชั้น จึงจะได้รับการสรงน้ำ และมีการถวายจตุปัจจัยหรือสังฆบริภัณฑ์ เช่น ถวาย เตียงนอน เสื่อสาด หมอนอิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำพานรองสำรับคาวหวาน ผ้าไตร ฯลฯ ครั้นแห่ประทักษิณครบสามรอบแล้วจะนิมนต์พระรูปนั้นนั่งบนแท่นซึ่งทำลวดลายด้วย หยวกกล้วย แล้วสรงน้ำด้วยน้ำอบน้ำหอมครั้นเสร็จจากการสรงน้ำแล้วจึงอ่านประกาศชื่อของพระรูปนั้น ให้ทราบทั่วกันประกาศนั้นจะเขียนลงบนใบลานบ้าน แผ่นเงินบ้าง แผ่นทองบ้างตามกำลังยศเมื่ออ่านประกาศ แล้วเจ้าศรัทธาจะมอบจตุปัจจัยต่างๆ ที่จัดมานั้นถวายแด่พระภิกษุต่อจากนั้นมีพิธีสวดมนต์เย็นที่ ศาลาการเปรียญ ในปัจจุบันมีคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯโดยชาวยโสธรจะชวนเพื่อนๆที่สนิทนำผ้าป่ามาถวายที่บ้านเกิดของตนเป็นการกลับมาเยี่ยมบ้าน เที่ยวงานประเพณีบุญบั้งไฟและเป็นการทำบุญด้วย วันแห่บั้งไฟตอนเช้ามีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญ และรับผ้าป่า จากนั้นนำขบวนแห่ไปคารวะมเหศักดิ์หลักเมืองเจ้าพ่อปู่ตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน แล้วขบวนแห่บั้งไฟทุกคณะไปตั้งแถวตามถนนแล้วแห่ไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดการกำหนดไว้ในขบวนแห่บั้งไฟที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ขบวนฟ้อนรำ ที่เรียกว่า เซิ้งบั้งไฟนำขบวนไปด้วยบั้งไฟแต่ละขบวนจะ ประกอบด้วยขบวนเซิ้งนำหน้าขบวนแสดงความเป็นอยู่ (อาชี)ตลกขบขัน ในวันจุดบั้งไฟ ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระตักบาตรถวายภัตตาหาร เลี้ยงดูญาติโยม แล้วแห่บั้งไฟไปรอบพระอุโบสถเพื่อถวายแด่เทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำบั้งไฟออกไปที่จัดไว้สำหรับจุดบั้งไฟ การจุดบั้งไฟจะจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อนเพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่าพืชผลทางการเกษตร ประจำปี จะดีเลวหรือไม่ กล่าวว่า คือถ้าบั้งไฟที่เสี่ยงทายจุดไม่ขึ้น (ชุติดค้าง) ก็ทายว่าน้ำประจำปีจะมากและทำให้ไร่ที่ลุ่มเสียหาย ถ้าจุดแล้วขึ้นไประเบิดแตกกลางอากาศทายว่าแผ่นดินจะเกิดความแห้งแล้งแต่ถ้าบั้งไฟจุดขึ้นสวยงามและสูง ชาวบ้านจะเปล่งเสียงไชโยตลอดทั้งบริเวณลานเพราะมีความเชื่อว่า ข้าวกล้าและพืชไร่ในท้องทุ่งจะได้ผลบริบูรณ์ หลังจากลำเสี่ยงทายแล้วก็จะทำการจุดบั้งไฟเสียงหลังจากนั้นก็จะจุดบั้งไฟที่นำมาแข่งขัน บั้งไฟหมื่นและบั้งไฟแสนการจุดชนวนใช้เวลาไม่กี่นาทีบั้งไฟก็จะพุ่งไปในอากาศ การขึ้นของบั้งไฟจะมีเสียงดังวี้ด คล้ายคนเป่านกหวีดหรือเป่ากระบอกส่วนบั้งไฟแข่งขันจะจุดหลังบั้งไฟเสียงการจุดบั้งไฟแข่งขันถ้าบั้งไฟของคณะใดขึ้นสูงก็เป็นผู้ชนะ ถ้าขึ้นสูงมากก็จะโห่ร้องยินดีกระโดดโลดเต้นกันอย่างเต็มที่ และจะแบกช่าง ทำบั้งไฟเดินไปมาแต่ถ้าบั้งไฟของคณะใดไม่ขึ้นหรือแตกเสียก่อน ช่างบั้งไฟจะถูกลงโคลนตมไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็ตามก็จะจับโยนทั้งนั้น ช่างทำบั้งไฟจะเป็นคนจุดเองหรือบางทีคนในคณะบั้งไฟของตน ที่มีความชำนาญจะเป็นคนจุดกรรมการจะจับเวลาว่าใครขึ้นสูงกว่ากัน การจุดบั้งไฟนี้น่ากลัวมาก บางบั้ง ก็แตกบางบั้งก็ขึ้นสูงในวันจุดบั้งไฟนี้ประชาชนพากันมามุงดูอย่างคับคั่งนั่งอยู่ตามร่มไม้เป็นกลุ่มๆและพนันกันว่าบั้งไฟใครจะชนะ ขึ้นสูงหรือไม่ ตกหรือไม่ เป็นต้นบางทีมีบั้งไฟมากต้องจุด ๒ วัน ก่อนจุดต้องเอาเครื่องประดับบั้งไฟออกนำแต่บั้งไฟเท่านั้นไปจุด หลังจากจุดเสร็จแล้วจะมอบรางวัลให้กับบั้งไฟที่ขึ้นสูง ตามลำดับที่ ๑ - ๓จากนั้นคณะเซิ้งพากันเซิ้งกลับไปบ้านของตนหรือบ้านช่างทำบั้งไฟ กิจกรรม จะนิยมจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟจำนวน 2 วัน โดยจะแยกจัดเป็นหมู่บ้านไม่ได้จัดรวมกัน วันที่ 1 ช่วงเช้าจะมีการแห่ขบวนบั้งไฟและประกวดขบวนฟ้อนสวยงาม วันที่ 2 ช่วงบ่าย จะมีการจุดบั้งไฟขึ้นสูง เพื่อเป็นการบวงสรวงเทวดา พญาแถนและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีเอาไว้ สอบถามรายละเอียด ส่วนการศึกษา 045-738345 วันเข้าพรรษา บุญเข้าพรรษา หรือบุญเดือนแปด ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัฒนธสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกวันนี้ว่า วันอาสาฬหบูชา การเข้าพรรษา หมายถึงการที่พระภิกษุอธิษฐานที่จะอยู่ประจำ ณ วัดใด วัดหนึ่งเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เว้นแต่จะถือสัตตาหะตามพุทธบัญญัติ มูลเหตุที่ทำ มีเรื่องเล่าว่า ในระหว่างที่ภิกษุทั้งปวงที่เที่ยวไปแสวงบุญตามชนบททั่วไป ไม่มีเวลาพักผ่อน ทั้งฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน เฉพาะฤดูฝนนั้นต่างจะเหยียบย่ำหญ้าและข้าวกล้า ของประชาชนเสียหาย สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ พลอยถูกเหยียบตายไป ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบดังนั้น จึงบัญญัติให้พระภิกษุต้องจำพรรษา 3 เดือนในฤดูฝนโดยมิให้ไปค้างแรมที่อื่นนอกจากในวัดของตน ถ้าหากไปถือว่าเป็นการขาดพรรษา จะต้องอาบัติปฏิสสวทุกกฎ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้เช่นกัน เช่น กรณี บิดา มารดา เจ็บไข้ได้ป่วย ยกเว้นเพื่อรักษา พยาบาลได้แต่ก็ต้องกลับมาภายใน 7 วัน พรรษาจึงจะไม่ขาด หากเกิน 7 วันไป เป็นอันว่าพรรษาขาด พิธีกรรม ในวันเพ็ญเดือนแปด ตอนเช้าญาติโยมจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวปลาอาหารมาทำบุญตักบาตรที่วัด หลังจากนั้น จะนำสบง จีวร ผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษาและดอกไม้ ธูปเทียนมาถวายพระภิกษุที่วัดแล้วรับศีลฟังพระธรรมเทศนา ตอนกลางคืน เวลาประมาณ 19.00 - 20.00 น.ชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูป เทียน มารวมกันที่ศาลาโรงธรรมรับศีล แล้วเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ หลังจากเวียนเทียนแล้วก็จะเข้าไปในศาลาโรงธรรมเพื่อฟังพระธรรมเทศนา กิจกรรม มีการทำบุญตักบาตร มีการปฏิบัติธรรม พัฒนาวัด เวียนเทียน ประเพณีบุญข้าวสาก บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า "บุญเดือนสิบ" มูลเหตุที่ทำ เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับ ไปแล้ว ความเป็นมาของสลากภัตทาน ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนี้บุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า "เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า"ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปรารถนา "ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด" ดังนี้ ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงส์แห่งสลากภัตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า "สลากภัตเทพบุตรเทพธิดา" กาล กตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงส์แห่งการถวายสลากภัต นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้ ประเพณีบุญข้าวสาก ทุกหมู่บ้านในตำบลพระเสาร์ จัดในช่วงเดือน กันยายน ของทุกปี กิจกรรม ทำบุญตักบาตร เพื่อเป็นการทำบุญให้ผีเปรต ซึ่งจะทิ้งระยะห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ประมาณ 15 วันเป็นการส่งเปรตกล่าวคือเป็นการเชิญผีเปรตมารับทานในวัน สิ้นเดือนเก้าและเลี้ยงส่งในกลางเดือนสิบ บางพื้นที่ในการทำบุญจะมีการจดชื่อของตนใส่ไว้และเขียนสลากใส่ลงที่ภาชนะบาตรเมื่อพระสงฆ์ได้รับฉลากนั้น ก็จะเรียกเจ้าของยกทานไปถวาย ประเพณีห่อข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน คือ บุญที่ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า(ประมาณเดือนสิงหาคม) เป็นการนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เป็นการทำบุญที่ชาวบ้าน จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ความเป็นมา มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่าญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์เมื่อตายแล้วไป เกิดในนรก ครั้นพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเข้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีกแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วน กุศลการทำบุญข้าวประดับดิน ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณี ที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี มูลเหตุที่ทำ เนื่องจากคนลาวและไทยอีสาน มีความเชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลแล้วว่า กลางคืนของเดือนเก้าดับ(วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9)เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากันจัดห่อข้าวไว้ให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว ถือว่าเป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว พิธีกรรม ในตอนเย็นของวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ญาติโยมเตรียมจัดอาหารคาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ไว้กะให้ได้ 4 ส่วน ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์ ในส่วนที่สาม ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อ ขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง อาหารคาวหวาน ที่ใส่ห่อนั้นจะจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย อาทิ 1. ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน 2. เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปเล็กน้อย ถือว่าเป็นอาหารคาว 3. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ ลงไป (ถือเป็นอาหารหวาน) 4. หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ หลังจากนั้นนำใบตองมาห่อเข้ากันแล้วใช้ไม้กลัดหัวท้ายและตรงกลางก็จะได้ห่อข้าวน้อย ที่มีลักษณะยาวๆ หมาก พลู หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ สีเสียด แก่นคูน นำมาห่อใบตองเข้าด้วยกันแล้วไม้กลัดหัวท้าย ก็จะได้ห่อหมาก พลู หลังจากนั้นนำทั้ง 2 ห่อมาผูกกันเป็นคู่ แล้วนำไปมัดรวมเป็นพวง 1 พวง จะใส่ ห่อหมากและห่อพลูจำนวน 9 ห่อ ต่อ 1 พวง การวางห่อข้าวน้อย หมายถึง การนำห่อข้าวน้อยไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่างๆ พอถึงเวลาประมาณ 03.00 - 04.00 น.ของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะนำเอาห่อข้าวน้อยที่จัดเตรียมได้แล้วไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ในวัด วางไว้ตามดินริมกำแพงวัด วางไว้ริมโบสก์ ริมเจดีย์ในวัด การนำเอาห่อข้าวน้อยไปวางตามที่ต่างๆ ในวัดเรียกว่า การยาย(วางเป็นระยะๆ)ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด หลังจากการยาย (วาง) ห่อข้าวน้อยเสร็จ ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารใส่บาตรในตอนเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 หลังจากนี้ พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องอานิสงส์ของบุญข้าวประดับดินให้ฟัง ต่อจากนั้นชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุกๆ คน ประเพณีห่อข้าวประดับดิน ทุกหมู่บ้านในตำบลพระเสาร์ ในช่วงเดือน กันยายน ของทุกปี กิจกรรม ประชาชนนำอาหาร หมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตองไปวางตามยอดหญ้า บ้างแขวนตามกิ่งไม้ใส่ไว้ตามศาลเจ้าเทวลัยเพื่ออุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นพิธีระลึกถึงคุณของแผ่นดินที่ได้อาศัยทำกิน เมื่อได้รับประโยชน์จากที่ดินก็จัดพิธีขอบคุณแผ่นดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัด 2 วัน โดยวันแรกจะเป็นวันจัดเตรียมอาหาร หมากพลู มวลบุหรี่ วันที่ 2 ประมาณตีสามตีสี่พระสงฆ์จะตีกลองเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านนำอาหารหมากพลู มวลบุหรี่ ที่เตรียมไว้ไปวางหรือแขวนไว้ตามที่ต่างๆ กรวดน้ำบอกเจ้ากรรมนายเวร ญาติที่ล่วงลับไปแล้วมารับของที่ให้ทานมีวิธีทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ เดือนสิบเอ็ด – บุญออกพรรษา ประเพณีบุญออกวัสสา หรือ บุญออกพรรษา เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์ทำพิธีออกพรรษาตามหลักธรรมวินัย คือ ปวารณาในวันเพ็ญเดือน 11 ญาติโยมทำบุญถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บางแห่งนิยมทำการไต้น้ำมัน หรือไต้ประทีป และพาสาทเผิ่ง (ปราสาทผึ้ง) ไปถวายพระสงฆ์ มูลเหตุที่ทำให้เกิดบุญออกพรรษามีว่า เนื่องจากพระภิกษุสามเณรได้มารวมกันอยู่ประจำที่วัด โดยจะไปค้างคืนที่อื่นไม่ได้ นอกจากเหตุจำเป็นเป็นเวลา 3 เดือน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะมาร่วมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณ์ คือการเปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ทั้งภายหลังนั้นพระภิกษุสามเณรส่วนมากจะแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ตามในชอบ และบางรูปอาจจะลาสิกขาบท โอกาสที่พระภิกษุสามเณรจะอยู่พร้อมกันที่วัดมาก ๆ เช่นนี้ย่อมยาก ชาวบ้านจึงถือโอกาสเป็นวันสำคัญไปทำบุญที่วัด และในช่วงออกพรรษาชาวบ้านหมดภาระในการทำไร่นา และอากาศสดชื่นเย็นดี จึงถือโอกาสทำบุญโดยพร้อมเพรียงกัน พิธีทำบุญออกพรรษา วันขึ้น 14 ค่ำ ตอนเย็นมีการไต้น้ำมันน้อย วันขึ้น 15 ค่ำ ตอนเย็นมีการไต้น้ำมันใหญ่ ส่วนวันแรม 1 ค่ำ ตอนเช้ามีการตักบาตร หรือตักบาตรเทโว ถวายภัตตาหาร มีการไต้น้ำมันล้างหางประทีป มีการถวายผ้าห่มหนาวพระภิกษุสามเณร บางแห่งมีการกวนข้าวทิพย์ถวาย มีการรับศีล ฟังเทศน์ ตอนค่ำจะมีจุดประทีป นอกจากนี้บางท้องถิ่นจะมีการถวายต้นพาสาดเผิ่ง หรือปราสาทผึ้ง ล่องเรือไฟ เพื่อเป็นการบูชาและคารวะพระแม่คงคา และการล่องเรือ(แข่งเรือ) เพื่อความสนุกสนานและร่วมสามัคคี